วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2561

วัดมิ่งเมือง น่าน

" วัดมิ่งเมือง" วัดที่ประดิษฐานเสาพระหลักเมือง คนเมืองน่านโบราณเรียกว่าเสามิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหารในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดชเจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ตั้งชื่อว่า"วัดมิ่งเมือง" 
*
fb.แอ่วเหนือ
https://twitter.com/prawprai/status/1026849014723928064

***************************
วัดมิ่งเมือง และ เสาพระหลักเมืองน่าน

36 ถ.สุริยพงษ์ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปีพ.ศ. 2510 เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. 2400 โดยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ในบริเวณวัดร้างซึ่งสันนิษฐานว่า คือ วัดห้วยไคร้ (สมัยสุโขทัย)

๐ อุโบสถ ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2400 อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ทางวัดและคณะศรัทธา จึงได้ร่วมกันสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น โดยรื้อหลังเดิมลง ในปีพ.ศ. 2529 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2540 เป็นอุโบสถศิลปะล้านนาร่วมสมัย ภายนอกมีประติมากรรมปูนปั้น ฝีมือช่างเมืองน่าน ลวดลายวิจิตรงดงาม ภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน เริ่มตั้งแต่สมัยพญาภูคา เจ้าเมืองน่านองค์ปฐมตั้ง ณ เมืองย่าง (อ.ปัว)จนถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย ภาพวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน เขียนโดยจิตรกรพื้นบ้านเมืองน่าน และจัดให้มีการฉลองสมโภช ถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี เมื่อ ปีพ.ศ. 2540

๐ หลวงพ่อมิ่งมงคล พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสน ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร ซึ่งสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2400 โดยเมื่อแรกสร้างมีขนาดเล็กกว่าในปัจจุบัน ผ่านการบูรณะมา 4 ครั้ง ซึ่งในครั้งสุดท้ายได้เพิ่มขนาดองค์พระให้มีขนาดหน้าตัก 2 เมตร

๐ เสาพระหลักเมืองน่าน ประดิษฐานอยู่ภายใน ศาลาจตุรมุขลวดลายปูนปั้นสีขาว ยอดบนสุดเป็นรูปเศียรท้าวมหาพรหม เปิดโล่งทั้ง 4 ด้าน มีบันได้ทั้ง 4 ด้าน ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอุโบสถ เสาหลักเมืองสูง 3 เมตร ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปเศียรท้าวมหาพรหม มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ช่วงล่างแกะสลักลวดลาย ตั้งบนฐานทรงกลม ลวดลายบัวคว่ำ บัวหงาย

**ศาลพระหลักเมืองน่าน แต่ละทิศมีเทพคุ้มครองและอำนวยพร ต่างกัน คือ

*ทิศเหนือ คือ พระเมตตา ให้มงคลในด้านอำนาจ บารมี ความมั่นคง มีความกล้าแข็ง เข้มแข็ง เป็นที่เคารพเกรงขาม โดยมีท้าวเวสสุวรรณ เป็นผู้รักษา

*ทิศตะวันออก คือ พระกรุณา ให้มงคลในด้านเสน่ห์ เมตตา มหานิยม เป็นที่รัก และชื่นชอบของคนและเทวดา โดยมีท้าวธตรฎฐ์ เป็นผู้รักษา

*ทิศใต้ คือ พระมุทิตา ให้มงคลในด้านความมั่งคั่ง ร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ และบริวาร โดยมีท้าววิรุฬหก เป็นผู้รักษา

*ทิศตะวันตก คือ พระอุเบกขา ให้มงคลเด่นในด้านความสงบ ร่มเย็นเป็นสุข มีสันติภาพ ภราดร เป็นที่เคารพ นับถือ เชื่อถือของคนทั่วไป โดยมีท้าววิรูปักษ์ เป็นผู้รักษา

**ประวัติเสาพระหลักเมืองน่าน ต้นแรกสร้างขึ้นโดย สมเด็จเจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน โปรดให้ฝังเสาหลักเมือง ณ วัดมิ่งเมือง แห่งนี้ เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2331 เดิมมีลักษณะเป็นเสาไม้สักทองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ซม. สูงประมาณ 3 เมตร ทรงกลม หัวเสาเกลาเป็นรูปดอกบัวตูม ตัวเสาฝังลงกับดินโดยตรง ไม่มีศาลาครอบ

ต่อมาปีพ.ศ. 2506 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ กระแสน้ำได้เซาะจนตัวเสาโค่นลง เมื่อกลับสู่ภาวะปกติ ทางวัดและคณะศรัทธา ได้ร่วมกันสร้างเสาพระหลักเมืองขึ้นใหม่ (ต้นที่สอง) ณ.จุดเดิม เป็นเสาก่ออิฐถือปูน ก่อฐาน 4 เหลี่ยม ตัวเสาสูงประมาณ 1.5 เมตร ฐานสูง 1 เมตรเศษ ทาด้วยปูนขาว

ถึงปีพ.ศ. 2514 ทางวัด หน่วยราชการ และชาวน่าน ได้ร่วมกันสร้างเสาพระหลักเมืองน่านขึ้นใหม่ (ต้นที่สาม ปัจจุบัน) โดยได้นำเอาเสาหลักเมืองน่านต้นแรก ที่โค่นล้มลงนั้น มาเกลาแต่งใหม่ และสลักหัวเสาเป็นรูปพรหมพักตร์ พร้อมทั้งได้สร้างศาลาจตุรมุขครอบเสาพระหลักเมืองขึ้น

ระหว่างการก่อสร้าง ปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงพระราชดำเนิน มาบรรจุต้นท้าวเวสสุวรรณ จำนวน 84,000 องค์ ลงในหลุมฐานเสาหลักเมือง

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน แทนพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองน่าน

ปี พ.ศ. 2541 และ ปีพ.ศ. 2542 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเสด็จมาสักการะเสาพระหลักเมืองน่าน

จนมาถึงปี พ.ศ. 2548 ศาลพระหลักเมืองน่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทางวัด และทางราชการ ได้ทำการรื้อถอนศาลพระหลักเมืองน่าน พร้อมทั้งได้สร้างศาลพระหลักเมืองน่านหลังใหม่ขึ้น โดยการสนับสนุนจากชาวน่าน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา

ในปี พ.ศ. 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงยกยอดเศียรท้าวมหาพรหม ยอดศาลพระหลักเมืองน่าน และเป็นองค์ประธานประกอบพิธีตั้งเสาพระหลักเมืองน่าน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ภายในวัด ยังมี

*พระพุทธสิงห์ 1 น่านเจ้า ภายในอุโบสถ

*หลวงพ่อพระเจ้าทันใจแสงสุขประทานพร ภายในวิหารพระเจ้าทันใจ

*พระเจดีย์

*พระสีวลี ภายในซุ้มมณฑป ด้านหน้าพระเจดีย์

*หอระฆัง

*ศาลปู่วัด

https://www.facebook.com/pattanayuu/photos/a.1539846912984017.1073741828.1539781539657221/1593225760979465/?type=3







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“การเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ เป็นการยาก

  กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท. [กิด-โฉ, พุด-ทา-นะ-มุบ-ปา-โท] “การเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ เป็นการยาก” (ขุ.ธ. ๒๕/๓๙)     คำว่า ผู้รู้ ในที่นี้หมายถึ...