วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ความรู้ทั่วไป : พระอานนท์ ผู้แตกฉานในพระธรรม

พระอานนท์ ผู้แตกฉานในพระธรรม

เรื่องมีอยู่ว่าในแสนกัปนับแต่ภัทรกัปนี้ พระบรมศาสดาพระนามว่า "ปทุมุตระ" ได้เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทุกครั้งที่ทรงยกพระบาทเพื่อจะเหยียบลงบนแผ่นดิน ดอกบัวหลวงดอกใหญ่จะชำแรกแผ่นดินขึ้นมา กลิ่นหอมของเกสรได้กระจายไปทั่วทุกทิศ จึงทำให้พระองค์ทรงพระนามเช่นนี้

พระพุทธองค์ทรงมีพระเชฏฐภาดา คือ น้องชายร่วมบิดาชื่อ "สุมนกุมาร" แม้สุมนกุมารจะไม่ได้ออกผนวชตามพระเจ้าพี่ แต่ก็มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา หาโอกาสเข้าวัดฟังธรรมมิได้ขาด ทุกครั้งที่ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาสุมนกุมารจะสังเกตเห็นว่า พระเถระชื่อสุมนะเป็นที่โปรดปรานของพระพุทธองค์มากเป็นพิเศษ เวลาจะเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ต้องขออนุญาตจากพระเถระรูปนี้ก่อน เพราะท่านจะรู้เวลาอันสมควร พระกุมารจึงอยากได้รับตำแหน่งนี้บ้าง

พระบรมศาสดาจึงทรงแนะนำให้พระกุมารทำทาน รักษาศีล และเจริญสมาธิภาวนา จากนั้นพระสุมนกุมารจึงรับสั่งให้สร้างมหาวิหารขนาดใหญ่ เพื่อรองรับพระภิกษุถึง 1 แสนรูป ด้วยการซื้ออุทยานของกุฏุมพีชื่อโสภะในราคา 1 แสนกหาปณะ อีกทั้งทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์อีก 1 แสนกหาปณะ เพื่อสร้างมหาวิหาร

พระกุมารได้ถวายมหาทานตลอด 7 วัน ในวันที่ 7 ทรงถวายผ้าไตรจีวรแด่พระภิกษุ 1 แสนรูปและทูลขอพรเป็น "พุทธอุปัฏฐาก" พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงพยากรณ์ว่าอีก 1 แสนมหากัป พระกุมารจะได้เป็นพุทธอุปัฏฐากของพระสมณโคดมพุทธเจ้า มีนามว่า "อานนท์" หลังจากนั้นท่านก็ได้เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิยาวนาน

ภพชาติสุดท้ายพระกุมารได้เกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ และได้เป็นสหชาติของพระบรมศาสดา เมื่อออกผนวชก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพุทธอุปัฏฐาก เป็นเอตทัคคะในด้านพหูสูต มีธิติ (ความจำดี สามารถจำได้ถึง 15,000 พระคาถา ในการฟังเพียงครั้งเดียว) มีคติ (ทรงจำพระสูตรทั้งหมดได้) มีสติ และเป็นพุทธอุปัฏฐากอันเลิศ จากพระพุทธองค์ หลังจากบรรลุพระอรหันต์แล้ว ท่านยังได้เป็นผู้ตอบปัญหาเรื่องพระธรรม ในการสังคายนาครั้งที่ 1 อีกด้วย.
*
อ้างอิง: หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ 1 หน้า 11-26
https://www.facebook.com/dimc.tokyo/posts/1908659312532061

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“การเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ เป็นการยาก

  กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท. [กิด-โฉ, พุด-ทา-นะ-มุบ-ปา-โท] “การเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ เป็นการยาก” (ขุ.ธ. ๒๕/๓๙)     คำว่า ผู้รู้ ในที่นี้หมายถึ...