พระอุบาลี ผู้แตกฉานในพระวินัย
ครั้งหนึ่งในสมัยของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้เสด็จเข้าไปในนครหงสาวดี เพื่อแสดงธรรมให้พระราชบิดาฟัง พราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า "สุชาต" มีทรัพย์ 80 โกฏิ ได้เข้าไปร่วมฟังธรรมในสมาคมนั้นด้วย ท่านได้ยินพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ดาบสตนหนึ่ง ได้ใช้อิทธิปาฏิหาริย์ นำดอกไม้มาบังแสงแดดให้กับพุทธบริษัทที่มาฟังธรรม ซึ่งนั่งล้อมเป็นวงกว้างถึง 1 โยชน์
พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า "ดาบสจะได้บรรลุเป็น พระอรหันต์ในสมัยของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นผู้เลิศในด้านพระธรรมกถึก" จึงปรารถนาจะได้บุญใหญ่เช่นนั้นบ้าง
พราหมณ์สุชาต จึงตัดสินใจรวบรวมทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่มีอยู่ นำไปซื้อสวนของนายโสภณะ เพื่อสร้างวัดบริเวณหน้าพระนคร นอกจากสร้างวัดแล้ว ยังทำการตกแต่งเรือนยอด ปราสาท มณฑป ถ้ำ ในที่จงกรม เพื่อให้ดูเหมือนวัดป่า เพื่อว่าพระภิกษุจะได้ปฏิบัติธรรมอย่างสะดวกสบาย ภายในวัดจึงพรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค
แล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า "อารามชื่อโสภณะนี้ ข้าพระองค์ ซื้อด้วยทรัพย์ ที่แสวงหามาตลอดทั้งชีวิต ทุ่มเทสร้างขึ้นเพื่อหวังบุญเป็นที่ตั้ง ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายสังฆารามในครั้งนี้ ขอจงเป็นพลวปัจจัยให้ข้าพระองค์ ได้เป็นภิกษุผู้ทรงพระวินัยในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้าด้วยเถิด."
พระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ความปรารถนาของพราหมณ์นี้จะสำเร็จหรือไม่ครั้นเมื่อพิจารณาแล้ว ทรงพยากรณ์ว่า "ผู้ใดได้มอบถวายสังฆารามที่สร้างเรียบร้อยแด่พระพุทธเจ้า เราตถาคตกล่าวสรรเสริญเขาผู้นั้น จตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า จักแวดล้อมผู้นั้นอยู่เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม เครื่องดุริยางค์หกหมื่น และกลองทั้งหลาย ที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม จักประโคมห้อมล้อมผู้นั้นอยู่เป็นนิตย์ ผู้นั้นจักรื่นเริงใจอยู่ในเทวโลกเป็นเวลา 30,000 กัป จักเป็นท้าวสักกเทวราชถึง 1,000 ครั้ง จักได้เสวยสมบัติทั้งหมดที่ราชาแห่งทวยเทพพึงครอบครอง จักเป็นผู้มีสมบัติตักไม่พร่อง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น 1,000 ครั้ง เสวยราชสมบัติอันไพบูลย์ ในแผ่นดินนับครั้งไม่ถ้วน ในอีกหนึ่งแสนกัปแต่กัปนี้ไป เธอจักได้เป็นสาวก ของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฉายานามว่าอุบาลี เธอจักเป็นผู้ทรงพระวินัย เป็นผู้ฉลาดในฐานะและอฐานะ ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระชินเจ้า"
เมื่อละสังขารจากชาตินั้นแล้วท่านได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ ภพสุดท้ายได้ออกบวชเป็นพระเถระชื่อว่า "อุบาลี" ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านทรงจำพระวินัย บรรลุวิชชา 3 ปฏิสัมภิทา 4 วิโมกข์ 8 และอภิญญา 6 หลังพุทธปรินิพพาน ท่านยังได้เป็นผู้ตอบปัญหาพระวินัย ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 อีกด้วย.
อ้างอิง: หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ 1 หน้า 14-18
**
CR : https://www.facebook.com/dimc.tokyo/posts/1907087986022527
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น