วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ความรู้ทั่วไป: สุเมธาภิกษุณี นารีรัตน์ผู้ถวายวิหารทาน

เรื่องมีอยู่ว่าในสมัยพระโกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนางสุเมธากับเพื่อนหญิงอีก 2 คน ได้พร้อมใจกันถวายวิหารทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยจิตที่เลื่อมใสในวิหารทานครั้งนั้น ทำให้พระนางได้ไปบังเกิดเป็นเทพธิดาผู้มีฤทธานุภาพมากในเทวโลก 10,000 ครั้ง ได้ลงมาเกิดเป็นนางแก้ว พระมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดินับครั้งไม่ถ้วน

เมื่อมาในยุคสมัยของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกี มีพระราชธิดา 7 พระองค์ ทรงเป็นกษัตริย์ในนครพาราณสีและเป็นยอดอุปัฏฐาก พระนางสุเมธาได้เป็นสหายของพระราชธิดาเหล่านั้น เมื่อมีโอกาสฟังธรรม จึงบังเกิดความเลื่อมใส ได้ถวายทานด้วยความเคารพ และประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อละจากโลกได้ไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยามา ดุสิตา นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ที่น่าอัศจรรย์คือ เมื่อพระนางไปบังเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นไหน ก็จะได้เป็นมเหสีของจอมเทพในสวรรค์ชั้นนั้น

เมื่อมาถึงสมัยพุทธกาลนี้ พระนางได้มาบังเกิดเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าโกญจะ ในกรุงมันตาวดี พระชนกชนนี ได้ขนานนามว่า "สุเมธา" เป็นนารีรัตน์ผู้มีความงามเป็นเลิศ มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด พระชนกชนนีปรึกษากันว่า จักถวายพระนางแด่พระเจ้าอนิกรัตตะ แห่งกรุงวารณวดี แต่เนื่องจากพระนางฟังธรรมจากสำนักภิกษุณีอยู่บ่อย ๆ จึงบังเกิดความสังเวชในสังสารวัฏ พระนางจึงทูลขออนุญาตพระชนกชนนีออกผนวชและตรัสโทษของกาม แต่ถึงอย่างนั้นพระราชบิดาก็ไม่ทรงยินยอม พระนางเห็นดังนั้น จึงคว้าพระขรรค์มาตัดพระเกศาของตัวเอง ยึดเอาเกศานั้นเป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน ได้บรรลุปฐมฌานบนปราสาท แล้วจึงให้โอวาทแก่พระชนกชนนีและเหล่าข้าราชบริพาร จนทุกคนเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระนางจึงได้รับพระราชทานอนุญาตให้ออกผนวช

ครั้นทรงผนวชแล้ว พระสุเมธาเถรีก็ทำภาวนาต่อจนถึงขั้นวิปัสสนา บรรลุเป็นพระอรหันต์ สำเร็จวิชชา 3 อภิญญา 6 ปฏิสัมภิทา 4 และวิโมกข์ 8 เพราะบุญแห่งการถวายวิหารทานแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในกาลก่อนนั้นนั่นเอง.

อ้างอิง: หนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับอานิสงส์แห่งบุญ 1 หน้า 39-43
ที่มา https://www.facebook.com/dimc.tokyo/posts/1910452025686123

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

“การเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ เป็นการยาก

  กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท. [กิด-โฉ, พุด-ทา-นะ-มุบ-ปา-โท] “การเกิดขึ้นแห่งท่านผู้รู้ เป็นการยาก” (ขุ.ธ. ๒๕/๓๙)     คำว่า ผู้รู้ ในที่นี้หมายถึ...